เมื่อประมาณ 1,500-3,000 ปีก่อนคริสตกาล ชนชาติอารยัน (Aryan) ผู้สืบเชื้อสายมาจากพวกอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European) ซึ่งเคยอาศัยอยู่ทางตอนกลางของทวีปเอเซีย บริเวณทะเลสาบแคสเปี่ยนและทะเลดำ ได้อพยพเคลื่อนย้ายออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ
– กลุ่มที่ 1 ออกเดินทางเข้าสู่ทวีปยุโรป เป็นชนชาติกรีก
– กลุ่มที่ 2 ออกเดินทางเข้าสู่ตะวันออกกลาง เป็นชนชาติเปอร์เซียหรืออิหร่านในปัจจุบัน
– กลุ่มที่ 3 ออกเดินทางเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดีย (พระพุทธเจ้าของเราก็น่าจะเป็นชนชาติอารยัน) และได้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมและภาษาระหว่างชาวอารยันกับชนพื้นเมืองคือพวกดราวิเดียน (Dravidian) การผสมผสานทางภาษานี้ทำให้เกิดภาษาใหม่ขึ้นมาชื่อภาษาปรากฤต ซึ่งเป็นการวิวัฒนาการร่วมกันของภาษาพระเวทของชาวอารยันเดิมกับภาษาท้องถิ่น
ชาวอารยันเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์ต่างๆทางธรรมชาติ และได้สร้างเทพเจ้าสำหรับปรากฏการณ์ต่างๆขึ้นมาเพื่อบูชา มีการสร้างบทสวดขึ้นมาเพื่อบวงสรวงสรรเสริญเทพเจ้า ในเวลาต่อมาบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าถูกจัดให้เป็นหมวดหมู่เรียกว่าไตรเพทหรือไตรเวท เรียกว่าคัมภีร์พระเวท ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีคัมภีร์พระเวท 4 เล่ม คือ ฤคเวท, ยชุรเวท, สามเวท, อาถรรพเวท ภาษาที่ปรากฏในคัมภีร์พระเวททั้ง 4 เป็นภาษาพระเวท จารึกด้วยอักษรเทวนาครี ซึ่งเป็นอักษรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอินเดียโบราณ
– ภาษาสันสกฤต
ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ของคนชั้นสูง พราหมณ์จะใช้ติดต่อสือสารกับเทพเจ้า แต่เดิมนั้นไม่ได้วางหลักเกณฑ์เคร่งครัดนัก ต่อมาประมาณ 520 – 460 ปีก่อนคริสตกาล “ปาณินิ” นักไวยากรณ์ชาวอินเดียสมัยโบราณ ได้ศึกษาคัมภีร์พระเวทและเห็นว่าภาษาพระเวทนั้นมีภาษาถิ่นปนเข้ามามาก ทำให้การประกอบพิธีกรรมไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ และเสียความบริสุทธิ์ของภาษา เขาจึงแต่งเป็นตำราไวยากรณ์ภาษาสันสกฤตขึ้นเรียกชื่อว่า “อัษฎาธยายี” หมายถึงคัมภีร์ 8 บท หลังจากที่ปาณินิแต่งตำราไวยากรณ์นี้แล้ว เราเรียกภาษาที่จัดระเบียบใหม่นี้ว่า “ภาษาสันสกฤต” แต่จากตำราไวยากรณ์นี้ทำให้ภาษาสันสกฤต ไม่มีวิวัฒนาการเหมือนภาษาอื่นๆ และภาษาสันสกฤตเป็นภาษาตายในที่สุด แต่ถึงกระนั้นภาษาสันสกฤตก็เป็นภาษาที่ถูกนำมารจนาในวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ของดินเดียหลายเรื่อง เช่น มหาภารต, รามายณะ, ศกุลตลา, กามสูตร
– ภาษาบาลี
ภาษาบาลีเป็นภาษาปรากฤตภาษาหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาจากภาษาพระเวท ภาษาบาลีที่ชาวมคธใช้พูดกันในแคว้นมคธ เรียกว่า “ภาษามาคธี” และพระพุทธเจ้าทรงใช้ภาษานี้ประกาศพระศาสนาของพระองค์ ภาษาบาลีถูกนำมาใช้บันทึกพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 ปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรกในจารึกพระเจ้าอโศกมหาราช และเป็นภาษาประจำพุทธศาสนานิกายหินยาน ในขณะที่ภาษาสันสกฤตถูกใช้เป็นภาษาประจำพุทธศาสนานิกายมหายาน และคำว่า บาลี หรือ ปาลิ เพิ่งจะปรากฏเป็นชื่อของภาษาเมื่อประมาณ 500 – 600 ปีที่ผ่านมานี้เอง
ข้อควรรู้ 1: คำว่า “หินยาน” ถูกใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 400 จนกระทั้งในการประชุมองค์การพุทธศาสนิกชนสัมพันธ์โลกครั้งที่ 1 ที่ประเทศศรีลังกาในปี พ.ศ. 2493 ที่ประชุมมีมติให้เลิกใช้คำว่า หินยาน และให้ใช้คำว่า เถรวาท แทนในทุกกรณี
ข้อควรรู้ 2: เซอร์ วิลเลียม โจนส์ (พ.ศ.2289 – 2337) เป็นคนแรกที่สังเกตเห็นความเหมือนกันระหว่างภาษาที่เก่าแก่ที่สุด 4 ภาษา คือ ภาษาละติน, ภาษากรีก, ภาษาสันสกฤต, และ ภาษาเปอร์เซีย