กรีกในสมัยโบราณอยู่ทางตะวันออกสุดยุโรปภาคใต้ ประกอบด้วยผืนแผ่นดินและดินแดนในหมูเกาะต่างๆ ในทะเลเอเจียน และฝั่งตะวันตกของเอเชียไมเนอร์ ซึ่งนิยมเรียกว่า “นครรัฐไอโอเนียน” ในบรรดานครรัฐต่างๆ ของกรีกต่างปกครองตัวเองอิสระแยกจากกัน ไม่เคยรวมตัวเป็นนครรัฐเดียวได้เลย ยกเว้นจะมีการรวมตัวกันบ้างเมื่อเกิดสงครามกับต่างชาติ โดยนครรัฐเหล่านั้นจะรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐ (Federation) แต่เมื่อสงครามสงบลงนครรัฐต่างๆ ก็แข่งขันกันเองและทำสงครามกันเองอยู่บ่อยครั้ง
การปกครอง
ในช่วง 1,200 – 650 ปีก่อนคริสตกาล รัฐแต่ละรัฐของกรีกมีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกัน แต่ละรัฐมีแนวทางการปกครองของตัวเองซึ่งพอจะจำแนกออกได้เป็น 4 แบบ
- ระบอบราชาธิปไตย (Monarchy) โดยมีพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจสูงสุดในการปกครอง
- ระบอบชนชั้นสูง (Aristocracy) โดยชนชั้นสูงจะตั้งคณะเป็นผู้ปกครอง ชนชั้นสูงที่ว่าคือพวกนักรบและขุนนาง
- ระบอบคณาธิปไตย (Oligarchy) เป็นการปกครองโดยหมู่คณะของกลุ่มคนบางกลุ่ม โดยคณะที่ว่าเป็นพลเมืองกลุ่มเล็กๆ ของพลเมืองผู้ร่ำรวย
- ระบอบทรราช (Tyranny) เป็นการปกครองโดยบุคคลเพียงคนเดียว ใช้อำนาจเด็ดขาดในการปกครอง ไม่คำนึงถึงผู้อยู่ใต้การปกครอง
จะว่าไปแล้วในแต่ละรัฐไม่ได้ปกครองด้วยการปกครองแบบใดแบบหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว อาจมีการรวมวิธีปกครองหลายแบบเข้าด้วยกัน ตัวอย่างการปกครองของรัฐใหญ่ๆ 3 รัฐ ได้แค่ นครรัฐคอรินธ์ นครัฐเอเธนส์ นครรัฐสปาร์ตา และระบอบประชาธิปไตยเพิ่งมีขึ้นในช่วง 494 ปีก่อนคริสตกาล
- นครรัฐคอรินธ์ เป็นรัฐเมืองท่าขนาดใหญ่ ตั้งอยู่เหนือที่ราบชายทะเลบริเวณคอคอดที่เชื่อมคาบสมุทรเพลอปปอนเนซุสกับแผ่นดินใหญ่ คอรินธ์แบ่งการปกครองออกเป็น 3 ภูมิภาคและแบ่งประชากรออกเป็น 8 เผ่า ซึ่งแต่ละเผ่าจะเลือกผู้แทน 10 คน เพื่อเป็นผู้แทนในสภา (Council) ซึ่งสภานี้จะเป็นคณะที่ปรึกษาของผู้ปกครองที่มาจากชนชั้นสูงอีกทีหนึ่ง
- นครรัฐเอเธนส์ เป็นรัฐขนาดเล็ก มีประชากรประมาณ 50,000 คน ประกอบด้วยบริเวณสำคัญ 2 ส่วนคือ อะโครโปลิส (Acropolis) และ อกอรา (Agora) ปกครองแบบประชาธิปไตย แต่แตกต่างจากประชาธิปไตยสมัยใหม่อยู่มาก คือ
-
สิทธิในการปกครองถูกสงวนไว้สำหรับประชากรเพียง 1 ใน 6 เท่านั้น
- สตรีไม่มีหน้าที่หรือสิทธิใดๆ
- พลเมืองที่มีสิทธิสามารถใช้สิทธิของตัวเองได้โดยตรง โดยไม่ต้องเลือกผู้แทนเพื่อเข้าไปใช้สิทธิดังกล่าว จะเห็นว่าประชากรที่มีสิทธิในการปกครองของรัฐเอเธนส์มีอยู่ไม่มากจึงไม่จำเป็นต้องทำการเลือกผู้แทน พลเมืองทุกคนที่มีสิทธิสามารถเข้าร่วมประชุมสภาราษฎรและลงมติในเรื่องต่างๆได้
-
- นครรัฐสปาร์ตา เป็นรัฐที่ทรงอำนาจและแข็งแกร่งที่สุดในบรรดานครรัฐต่างๆของกรีก มีกองกำลังทหารที่มีระเบียบวินัยและเกรียงไกรที่สุด มีลักษณะการปกครองเป็นเผด็จการทหาร ประชาชนของสปาร์ตาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
- สปาร์เตียน (Spartiates) เป็นชาวดอเรียน ถือเป็นสปาร์ตาแท้ ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นทหาร
- เปริโอชิ (Perioecil) เป็นชาวเลซิเดโมเนียน อาศัยอยู่รอบนอกตัวเมือง จัดเป็นเสรีชนทำกิจการของตัวเองได้ แต่ขาดสิทธิทางการเมือง
- เฮล็อต (Helot) เป็นชนพื้นเมืองเดิม แต่เมื่อพวกเลซิดเดโมเนียนบุกรุกเข้ามาก็ทำการควบคุมคนเหล่านี้ให้อยู่ในฐานะ “ทาส”
สงครามกรีก-เปอร์เซีย
ประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล จักรวรรดิเปอร์เซียมีอาณาเขตกว้างขวาง ยึดครองอาณาจักรต่างๆ ไว้ได้เป็นจำนวนมาก โดยมีเขตแดนดังนี้
- ทางทิศเหนือจดทะเลดำ เทือกเขาคอเคซัส ทะเลสาปแคสเปียน
- ทิศใต้จดอ่าวเปอร์เซีย ทะเลอาระเบียน
- ทิศตะวันออกจดแม่น้ำสินธุ เทือกเขาฮินดูกูด
- ทิศตะวันตกจดทะเลเอเจียน และข้ามแม่น้ำไนล์เข้าไปในอียิปต์
สงครามกรีก-เปอร์เซีย ครั้งที่ 1 (492 ปีก่อนคริสตกาล)
กษัตริย์ดาริอุสที่ 1 แห่งเปอร์เซีย ให้มาร์โดนิอุส (Madonius) ยกทัพข้ามช่องแคบเฮเลสปอนต์ผ่านแคว้นเทรซ (Thrace) ซึ่งเป็นชายฝั่งด้านเหนือของทะเลเอเจียน เพื่อเดินทางทัพเรือต่อไปยังคาลสมุทรกรีก แต่ถูกพายุใหญ่ ทำให้เรือเสียหายมากจนต้องยกทัพกลับ หลังจากนั้นพระเจ้าดาริอุสที่ 1 ได้ส่งคณะฑูตไปยังรัฐต่างๆของกรีกเพื่อเจรจาให้ยอมส่งส่วยดินและน้ำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการยอมแพ้และอยู่ใต้การปกครองของเปอร์เซีย ขณะนั้นนครรัฐหลายรัฐยอมส่งส่วย แต่มีบางรัฐไม่ยอม เช่น รัฐเอเธนส์ และ รัฐสปาร์ตาร์
สงครามกรีก-เปอร์เซีย ครั้งที่ 2 (490 ปีก่อนคริสตกาล) หรือสงครามมาราธอน
กษัตริย์ดาริอุสที่ 1 รวบรวมกำลังพลเพื่อที่จะทำสงครามกับกรีกอีกครั้ง โดยมีทหารราบ 250,000 ทหารม้า 1,000 เรือมากกว่า 600 ลำ โดยเดินทัพเลียบชายฝั่งทะเลเมติเตอเรเนียนเข้าสู่ทะเลเอเจียน และขึ้นบกที่อ่าวมาราธอน (Marathon) แคว้นอัตติกา (Attica) การรบครั้งนี้ถึงกรีกจะมีกำลังน้อยกว่า แต่กรีกเป็นฝ่ายชนะ
สงครามกรีก-เปอร์เซีย ครั้งที่ 3 (481 ปีก่อนคริสตกาล)
หลังจากกษัตริย์ดาริอุสที่ 1 สิ้นพระชนม์ในปี 486 ก่อนคริสตกาล เจ้าชายเซอร์เซส พระโอรสก็สืบราชสมบัติต่อ เป็นกษัตริย์เซอร์เซสที่ 1 (Xerxes 1) กษัตริย์เซอร์เซสที่ 1 ต้องการเดินทัพทางบกขึ้นเหนือ จึงสั่งให้ทำสะพานข้ามช่องแคบเฮเลสปอนส์ แล้วเดินทัพอ้อมมาตามชายฝั่งทะเลเข้าสู่คาบสมุทรกรีก โดยมีกองทัพเรือเดินทางเลียบชายฝั่งมาด้วย ว่ากันว่าการยกทัพมาครั้งนี้มีกำลังพลถึง 2,300,000 คน
- การรบที่ช่องเขาเทอร์โมพิเล ลีโอไนดัส (ในหนัง 300 ภาคแรกเป็นเรื่องของคนคนนี้) ได้นำทหารสปาร์ตา 300 คนต้านทัพของเปอร์เซียบริเวณช่องเขาเทอร์โมพิเล ลีโอไนดัสและทหารสปาร์ตาทั้ง 300 คน ได้ทำการสู่รบอย่างกล้าหาญและพลีชีพที่ช่องเขานี้ เมื่อรบชนะฝ่ายเปอร์เซียก็มุ่งหน้าสู่เอเธนส์
- การรบทางเรือที่ซาลามิส เธมิสโตคลิส (Themistocles) (ในหนัง 300: Rise of an Empire เป็นเรื่องของคนคนนี้ เป็นแม่ทัพเรือชาวกรีก) เธมิสโตคลิส ได้ให้เหตุผลต่อสภาว่าอนาคตของเอเธนส์ขึ้นอยู่กับอำนาจทางทะเล เขาสามารถโน้มนาวให้ประชาชนในรัฐเอเธนส์เห็นชอบในการนำเงินมาใช้ในการสร้างกองทัพเรือให้แข็งแกร่ง ในการสู่รบทางเรือที่ซาลามิส เธมิสโตคลิส เป็นฝ่ายชนะ เมื่อแพ้สงครามกษัตริย์เซอร์เซสที่ 1 รวบรวมกำลังพลที่เหลืออยู่และกลับเปอร์เซีย แต่ได้วางกำลังพล 120,000 คน ไว้ที่คาบสมุทรกรีก และมอบหมายให้มาร์โดนิอุส (Mardonius) บุตรเขยทำหน้าที่เป็นแม่ทัพ เมื่อมาร์โดนิอุสได้เป็นแม่ทัพก็ได้นำทัพบุกกรีกอีกอีกครั้ง และถูกสังหารในการรบ กองทัพเปอร์เซียขาดผู้นำ จึงพ่ายแพ้อย่างราบคาบ
หลังจากได้รับชัยชนะจากสงครามจากเปอร์เซียแล้ว ก็เกิดสงครามภายในระหว่างรัฐของกรีกอีกหลายครั้ง จนในที่สุดพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งมาซิโดเนีย (359– 336 ปีก่อนคริสตกาล) (คนนี้เป็นพ่อของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช) ซึ่งเป็นอาณาจักรทางภาคเหนือของกรีก ได้ใช้กำลังผสมระหว่างทหารม้าของขุนนางกับทหารราบฟาลังห์ (เป็นทหารที่ใช้โล่กับหอกยาวเวลารบจะเรียงแถวหน้ากระดาน) เข้ามาแทรกแซงและครอบครอง หลังจากนั้นไปก็จะเป็นเรื่องราวของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (356-323 ปีก่อนคริสตกาล) ที่จะขยายอาณาเขตไปจนถึงอินเดีย