การวัดระยะทางระหว่างโลก-ดวงจันทร์-ดวงอาทิตย์
อริสตาร์คัสแห่งซามอน (Aristarchus) นักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวกรีก (320-230 ปีก่อนคริสตกาล) อริสตาร์คัสเป็นคนแรกที่เสนอว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล และกลางวัน-กลางคืนเกิดจากโลกหมุนรอบตัวเอง อริสตาร์คัสวัดระยะระหว่างโลก-ดวงอาทิตย์-ดวงจันทร์ โดยใช้หลักการของตรีโกณมิติ อริสตาร์คัสใช้ช่วงเวลาที่มองเห็นดวงจันทร์ครึ่งดวงบนท้องฟ้าซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลก-ดวงจันทร์-ดวงอาทิตย์ทำมุมกัน 90 องศา (มุม a) จากนั้นต้องทำการวัดมุมระหว่างดวงจันทร์-โลก-ดวงอาทิตย์ (มุม b ส่วนมุม c ที่เหลือคำนวณได้จาก c=180-a-b) ซึ่งตอนนั้นอริสตาร์คัสวัด (มุม b) ได้ 87 องศา (ปัจจุบันวัดได้ 89.85 องศา ด้วยความไม่แม่นยำของเครื่องมือสมัยก่อนทำให้อริสตาร์คัสวัดผิดพลาดไป 2.85 องศา) อริสตาร์คัสคำนวณว่าระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ยาวเป็น 19 เท่าของระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ซึ่งจริงๆแล้วระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์จะเป็น 390 เท่าของระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ความคลาดเคลื่อนนี้ไม่ได้เกิดจากการคำนวณที่ผิดพลาด แต่เกิดจากความคลาดเคลื่อนของเครื่องมือวัดทำให้มุมที่ได้ขาดความเที่ยงตรง
การวัดเส้นรอบวงของโลก
เอราทอสเทนีส (Eratosthenes) นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก (276-194 ปีก่อนคริสตกาล) ว่ากันว่าเอราทอสเทนีสเคยร่ำเรียนที่สำนัก “อะคาเดมี” ของ “เพลโต” มาด้วย เอราทอสเทนีสยอมรับว่าโลกกลมและเขาพยายามคำนวณเส้นรอบโลก โดยเอราทอสเทนีสได้ทำการวัดเงาในเวลาเที่ยงวันของเสาที่ตั้งอยู่ในเมือง Syene และ Alexandria ซึ่งทั้งสองเมืองอยู่ห่างกัน 5,000 Stades (10 Stades เท่ากับ 1 ไมล์) จากการคำนวณของเอราทอสเทนีสเงาในเวลาเที่ยงของเสาจากทั้งสองเมืองต่างกันอยู่ 7.2 องศา เอราทอสเทนีสรู้อยู่แล้วว่าโลกกลม ฉะนั้น 1 วงกลมก็จะแบ่งเป็น 7.2 องศาได้ 50 ชิ้น (360/7.2 = 50) ดังนั้นความยาวรอบโลกก็จะเท่ากับ 50×5,000 = 250,000 Stades หรือเท่ากับ 25,000 ไมล์ ซึ่งความยาวรอบวงของโลกที่วัดด้วยเครื่องมือสมัยใหม่คือ 24,860 ไมล์ คลาดเคลื่อนไปนิดหน่อย
ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย, ไซแอนซ์ อิลลัสเตรเต็ด, กูเกิล